วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ใช้อุปกรณ์อะไรมั่งทำงานโมเดล ?

เผื่อว่ามีคนหลงเข้ามาในบล๊อกแห่งนี้แล้วเกิดสนใจอยากจะเล่นงานอดิเรกพวกนี้มั่ง เลยจัดการถ่ายรูปอุปกรณ์หลักๆที่ผมใช้และคนอยากเล่นโมเดลควรจะมี แต่บางชิ้นก็ไม่ได้จำเป็นมากขนาดที่ว่าขาดไม่ได้ ลองมาดูกันว่าผมใช้อะไรมั่ง


อย่างแรก คีมตัดพลาสติก ที่ใช้อยู่ตอนนี้เป็นคีมอย่างดีของยี่ห้อ U-Star ที่พี่แกเล่นไปก๊อปคีมเทพTamiya ตัวแพงมา(ราคาราวๆ1000-1200บาท) แต่อันนี้เป็นของไต้หวันเลยถูกกว่ากันค่อนข้างเยอะ จริงๆคีมตัดพลาสติกแบบถูกๆก็ใช้ได้เพราะต้องใช้อาร์ตไน๊ฟ์หรือคัตเตอร์แต่งรอยตัด มีการอุดขัดทำสีอยู่ดี ตัวนี้เทพตรงรอยตัดที่เรียบเนียน ไม่กินเนื้อพลาสติก แผลตัดไม่ฉีก ตัดแล้วเนื้อพลาสติกไม่ค่อยขึ้นเป็นฝ้า คีมตัดพลาสติกเป็นสิ่งที่คนทำโมเดลควรจะต้องมี แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นของแพงมากนัก และควรจะมีคีมแบบถูกๆติดไว้ด้วยเผื่อไว้ใช้ตัดพวกโมเดลที่เป็นเรซิ่นหรือโลหะ


คัตเตอร์และอาร์ตไนฟ์  ใช้ตัดแต่งโมเดล เฉือนตัดแต่งส่วนเกิน ขูดเกลาตะเข็บ เวลาใช้ก็ระวังกันหน่อย อาร์ตไนฟ์เคยกลิ้งจากโต๊ะทำงานเขียนแบบลงมาปักเท้าผมครั้งนึงแล้ว ผ่านมา18ปีแล้วรอยแผลเป็นยังอยู่เลย :P


กระดาษทราย ใช้ขัดผิวโมให้เรียบ ใช้กระดาษทรายน้ำทั่วไปก็ได้เพราะหาซื้อได้ไม่ยาก แต่ของผมใช้แบบนี้เพื่อความสะดวก


สว่านมือ ไว้เจาะเพื่อpin โมเดลด้วยลวด หรือเจาะรูกระบอกปืนของตัวโม ควรมีไว้หลายๆขนาดเผื่อเอาไว้เลือกใช้ตามงาน


กาว ถ้าใช้กับชิ้นส่วนพลาสติกก็ใช้กาวเฉพาะทางติดพลาสติกจะดีสุด เพราะถ้าใช้กาวช้างติดพลาสติกบางทีมันจะขึ้นเป็นฝ้า อีกทั้งติดยึดเร็วเกินไปไม่ทันได้จัดท่าทางให้ถูกต้องก็ติดแหงกซะแล้ว ต้องมานั่งแก้ไขกันอีก ถ้าใช้กาวพลาสติกจะต้องใช้เวลาพักนึงกว่าจะติดกันสนิท ซึ่งสำหรับผมเองแล้วถือว่าเป็นข้อดี ยี่ห้อที่ใช้คือ revell จะหายากซักหน่อยแต่เห็นเริ่มมีคนนำเข้ามาขายกันบ้างแล้ว ข้อดีของมันคือมีท่อโลหะสำหรับให้กาวไหล ทำให้ใช้งานได้ง่ายด้วยการหยด เอาไปติดพวกโมเดลยานพาหนะยิ่งสะดวก 
อีกตัวเลือกนึงที่ใช้ได้ดีเหมือนกันก็กาวพลาสติกTamiya  เคยใช้อยู่ช่วงแรกแต่ไม่ชอบตรงที่วิธีติดกาวเป็นแบบป้ายด้วยพู่กัน ซึ่ง revell ใช้ง่ายกว่าเยอะ

ในส่วนของกาวตราช้างก็มีใช้บ้างในชิ้นส่วนที่ไม่ใช่พลาสติก จำพวกโมเดลโลหะหรือเรซิ่น พวกนี้ต้องใช้กาวช้างหรือกาวร้อน ผมใช้กาวช้างของ LOCTITE เพราะรู้สึกว่าใช้ง่ายกว่ายี่ห้อทั่วๆไป และแนะนำให้หลีกเลี่ยงของ เคนจิ ที่มีขายใน7-11 อันนี้ห่วยจริงแท้


     ในส่วนของการอุด-ปั้นตกแต่งโมเดล green stuff เป็นputty ที่เมื่อผสม2สีเข้าด้วยกันและเซ็ตตัวแล้ว ความรู้สึกพื้นผิวจะเหมือนพลาสติกมากกว่าputty ทั่วๆไป ผมจะเลือกใช้กับโมเดลพลาสติกเป็นหลัก ระยะเวลาในการเว็ตตัวอยู่ราวๆ20-40นาที ซึ่งทำให้มีเวลามากพอที่จะตกแต่งพื้นผิว แต่ถ้าเป็นโมเดลเรซิ่นหรือตะกั่ว จะชอบใช้putty A-B แบบที่มีขายตามร้านอุปกรณ์ก่อสร้างซะมากกว่า เพราะเมื่อมันเซ็ตตัวจะแข็งเป๊กเหมือนเนื้อเรซิ่น
green stuff ร้านขายอุปกรณ์โมเดลทั่วๆไปไม่มีจำหน่าย ถ้าในไทยจะมีที่เห็นก็ที่ร้าน Battlefield Bangkok ซึ่งเป็นร้านจำหน่าย table war games model หรือร้านค้าออนไลน์ http://www.ritziza40k.com/ ที่ขายโมเดล WH 40K  แต่แบบที่ผมใช้สั่งซื้อมาจาก ebay 

ถ้าใครหาไม่ได้จริงๆ ใช้ของ tamiya แทนก็ได้เหมือนกัน

อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับปั้นจริงๆแล้วมีเก็บเอาไว้เยอะมาก แต่เฉพาะที่ถ่ายรูปมาคือของที่หยิบมาใช้งานบ่อยที่สุดแล้ว อย่างเกรียงโลหะนั่นเซ็ตนึงมี12ชิ้น ใช้ประจำอยู่แค่1-2ชิ้น แต่ก็ต้องซื้อมายกเซ็ต 
และที่ขาดไม่ได้ก็brush shaper เพื่อไว้เกลี่ยเนื้อ green stuff ให้เรียบเนียน ที่ใช้ประจำเป็นเบอร์0 แบบหัวตัด ช่วยลบรอยนิ้วมือและเกลี่ยนพื้นผิวได้ดีมาก


จุกไม้ก๊อก ใช้เพื่อไว้เป็นฐานสำหรับจับชิ้นงานเพื่อที่จะได้ทำงานได้สะดวก จากรูปจะเห็นว่ามีการเจาะยึดใต้ตัวโมและเสียบไว้กับไม้ก๊อก แต่บางคนอาจจะใช้วิธีนำโมเดลติดกาวกับเบสแล้วนำมาทำสี ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน ที่เอามาให้ดูเพราะผมใช้อยู่เท่านั้นเอง 


มาถึงส่วนของอุปกรณ์ทำสี พู่กันเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีไว้อย่างแน่นอน แต่จะใช้แบบใหนก็ตามศรัทธา ตอนเริ่มใหม่ๆผมใช้ของ masterart หาซื้อง่ายและคุณภาพพอใช้ได้ แต่หลังจากได้ลองพู่กันอย่างดีที่ใช้ขน kolinsky sable hair ก็ติดใจ ทำให้งานออกมาดีขึ้นมาก อุ้มสีได้ดี ใช้และรักษาขนพู่กันดีๆก็ใช้ได้นาน ผิดกับพู่กันถูกๆทั่วไปที่ใช้เพ้นต์โมเดลไปไม่เกิน3ตัวก็บานพังหมด 
พู่กันดีไว้ทำสีโมเดล ส่วนพู่กันถูกเอาไว้ทำเบสหรือ terrain


กล่องสำหรับใส่สีเพ๊นต์ หรือจานสี อันนี้เรียกว่า wet palette ใช้กล่องพลาสติกก้นตื้นแบบมีฝาปิด ด้านล่างตัดฟองน้ำวางลงไปให้พอดี เติมน้ำให้ชุ่ม ด้านบนก็วางกระดาษไขสำหรับอบอาหารลงไป พอเราบีบสีลงไปแล้วความชื้นข้างใต้จะทำให้สียังคงความชุ่มชื้น และจะทำให้เก็บสีไว้ใช้ได้นานยิ่งขึ้น แค่ปิดฝาเอาไว้ เมื่อเปิดมาใช้ใหม่สีที่บีบไว้ก็ยังไม่แห้งและลดการสิ้นเปลืองสีได้ดี ถ้าน้ำเริ่มระเหยไปก็ต้องเติมเพิ่มนะ


แอร์บรัช ใช้ประจำอยู่2ขนาดคือแบบหัว0.2และ0.3mm ของพวกนี้ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แต่ถ้าใครที่เล่นโมเดลแบบadvance แล้วคงจะมีใช้กันแทบทุกคน ทำงานสะดวกขึ้นมากมาย ทำสีได้เนียน ไล่เฉดได้ง่ายและเร็ว(ไม่ได้หมายความว่าพู่กันทำไม่ได้นะ ทำได้เหมือนกันแต่ช้ากว่ามาก) ทำสีพวกโมเดลยานพาหนะ เครื่องจักรกลหรือสิ่งก่อสร้างได้เรียบเนียนเหมือนจริง ช่วยประหยัดเวลาในการทำงานไปได้มาก 

และนี่คือแอร์บรัชที่ใช้อยู่ ณ ตอนนี้


Veda WD-180 หัวขนาด 0.3mm แอร์บรัชของไต้หวัน คุ้มค่าราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับผลงานที่ออกมา ถ้าเทียบกับแอร์บรัชยอดนิยมที่ราคา3000+ขึ้นไปแล้ว คิดว่าตัวนี้สูสี กับราคาค่าตัวไม่ถึงครึ่งของ Iwata hp-c  ตัวนี้ใช้หลักๆไว้พ่นรองพื้น ทำสีโมและ terrain


HD-120 หัวขนาด 0.2mm ของยี่ห้อ Holder ใช้สำหรับพ่นเก็บไฮไลต์ เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ขนาดกรวยสีมีขนาดเล็กใส่สีได้แค่นิดเดียว แต่ก็เพียงพอแล้วสำหรับงานที่ใช้ แอร์บรัชตัวนี้ผมชอบเป็นพิเศษเพราะรู้สึกว่าตอบโจทย์ในการทำงานโมเดลสายมินิเจอร์ได้ดีมาก แถมราคาก็ถูกมากๆ ใช้ปีนึงพังก็คุ้มค่าคุ้มราคามากแล้ว


ไม่มีปั๊มลมก็ใช้แอร์บรัชไม่ได้ เจ้านี่เป็นปั๊มลมยี่ห้อ Veda รุ่น AC-189 แรง 1/5HP แรงดันสูงสุดที่ 100PSI(6Bar) มีถังพักลม ใช้งานได้นาน เป็นอุปกรณ์ทำโมเดลที่แพงสุดละ ตัดใจซื้อมาใช้เพราะคิดว่าคุ้มค่ากับการลงทุน จนถึงตอนนี้ก็รู้สึกว่าตัวเองคิดถูก


สี ใช้แต่ที่ใช้น้ำเจือจาง ไม่ใช้แบบผสมทินเนอร์เด็ดขาด ส่วนมากจะเป็นของ Vallejo มี GW อยู่บ้างแต่น้อย น่าจะไม่เกิน4-5ขวด ที่เลือกใช้ของ Vallejo เป็นหลักเพราะขวดเป็นแบบบีบ ใช้งานง่าย ใช้ได้จนหมดขวดจริงๆ ต่างกับของGW ที่ไม่เคยใช้หมดก็แห้งคาก้นขวด ฝาก็ปิดสนิทได้ยาก สีแห้งทิ้งเสียเยอะ ที่ซื้อมาบางสีเพราะต้องการสีเฉพาะมาใช้ :P

ในส่วนของการพ่นด้วยแอร์บรัช จะเปลี่ยนจากการผสมด้วยน้ำเป็นใช้น้ำยาเช็ดกระจก Windex แทน หากพ่นโดยการใช้น้ำผสมจะทำให้แอร์บรัชอุดตันได้ง่าย ที่สามารถนำน้ำยาเช็ดกระจก Windex มาผสมเพราะมันมีฤทธิ์เป็นตัวละลายสีอคิลิคเชื้อน้ำได้เป็นอย่างดี ทั้งยังใช้ล้างแอร์บรัชได้ดีอีกด้วย แต่ขณะพ่นก็ควรจะใส่หน้ากากนะ


จริงๆแล้วยังมีอุปกรณ์มากกว่านี้อีกเยอะ แต่คิดว่าของพวกนี้คือเมนหลักในการทำงานที่สุด ไม่อยากนับพวกของยิบย่อยต่างๆเข้ามาเพราะเดี๋ยวมีคนสนใจจะเล่นเหมือนกันแล้วมาเห็นอุปกรณ์ที่มีมากเกินไปจะพาลท้อซะก่อน ของพวกนี้ไม่ได้ซื้อในทีเดียว ค่อยๆซื้อค่อยๆเก็บ แต่ควรจะซื้ออุปกรณ์หลักๆที่จำเป็นก่อน ส่วนของเสริมต่างๆค่อยๆซื้อเมื่ออยากจะใช้จริงๆเท่านั้น

ถ้าสนใจก็ลุยกันโลด :D











2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

สี Vallejo เวลาพ่นแอร์บรัชถ้าผสมกับน้ำยาเช็ดกระจกแล้วมันไม่เป็นฟองเหรอครับ หรือน้ำยายี่ห้อนี้ไม่มีฟอง

Mini Syndrome กล่าวว่า...

ไม่มีฟองสิครับ เพราะพ่นผ่านแอร์บรัช